top of page

Spirit House : บ้านเจ้า

ตำนานและคติความเชื่อทางพราหมณ์กล่าวไว้ว่า ในยุคที่มนุษย์ เทวดาและสรรพสัตว์ยังอยู่ร่วมกัน และสามารถสื่อสารระหว่างกันได้ ท้าวทศราชผู้ปกครองกรุงพาลีเกิดความโลภมากและเบียดเบียนมนุษย์ พระศิวะจึงมีโองการให้พระนารายณ์(พระวิษณุ)ลงมาปราบท้าวเทวราช เมื่อพระนารายณ์อวตารลงมาเป็นพราหมณ์น้อยและปฏิบัติกิจจนเป็นที่เลื่อมใสแก่ประชาชนทั่วพระนคร

ความไปถึงท้าวเทวราช พระองค์จึงเอ่ยถามพราหมณ์น้อยว่าท่านต้องการสิ่งใดเพื่อเป็นการบูชา พราหมณ์น้อยจึงออกอุบายขอที่ดินจากท้าวทศราชเพียง 3 ก้าว ฝ่ายพระเจ้ากรุงพาลีเห็นว่าเล็กน้อยจึงถวายให้ ทันใดนั้นเองพราหมณ์น้อยจึงแสดงอิทธิฤทธิ์กลับคืนสู่ร่างเดิมซึ่งคือพระนารายณ์และมีขนาดใหญ่โตกว่าปราสาทราชมณเฑียร เมื่อย่างก้าวเพียง 3 ก้าวก็กินอาณาบริเวณกรุงพาลีทั้งหมด ส่งผลให้ท้าวทศราช,พระนางสันทรทุกเทวี(พระมเหสี)และพระโอรสทั้ง 9 พระองค์ ถูกขับไล่ออกไปอาศัยอยู่นอกเขตมนุษย์

ท้าวทศราชพระมเหสีและพระโอรสต้องทนทุกข์กับความยากลำบากอย่างมาก พระองค์จึงได้พาพระโอรสทั้ง 9 ไปเข้าเฝ้าพระนารายณ์เพื่อขออภัยโทษเพื่อแสดงความสำนึกผิดอย่างแท้จริงและปวารณาตนว่าจะตั้งอยู่ในศีลธรรม ประกอบกรรมดี มีจิตใจเผื่อแผ่ พระนารายณ์เห็นจิตอันแรงกล้าจึงอภัยโทษให้และอนุญาตให้กลับมาอยู่ที่กรุงพาลีได้ดังเดิม แต่ไม่ใช่ฐานะกษัตริย์ และให้ประทับอยู่บนศาลซึ่งเป็นเพียงเสา 1 ต้นปักลงบนผืนดินเท่านั้น ที่สำคัญจะต้องปฏิบัติตามคำสัญญาอย่างเคร่งครัด มิฉะนั้นจะไม่ให้อยู่ในโลกอีกต่อไป

ตามคติความเชื่อแล้วเทพจะมีสภาพเป็นทิพย์ไม่รู้ร้อนรู้หนาวและมีกายละเอียดการได้พำนักหรือสถิตย์อยู่ที่เสาต้นเดียวนั้นไม่ใช่ปัญหา แต่ความด้วยต้องการมนุษย์ที่มักใส่ความรู้ของตนเองเข้าไปในสิ่งต่างๆ ก็ได้เพิ่มฐานรองอยู่บนเสาเพราะให้ความรู้สึกที่กว้างขวางและอยู่อาศัยได้สบายกว่า จากนั้นก็พัฒนามาด้วยการเพิ่มเติมหลังคาเพื่อกันแดดกันฝน เรื่อยมาจนเป็นรูปทรงบ้านเรือนไทย และประดิษฐ์ประดอยให้ใหญ่โตและวิจิตรบรรจงมากขึ้นจนเป็นรูปทรงปราสาท กระทั่งถึงปัจจุบันจึงกลายเป็นศาลโมเดิร์นที่มีการพัฒนารูปทรงให้มีความเรียบง่ายขึ้นตามรูปแบบของสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ มีการใช้วัสดุที่หลากหลายและทันสมัยมากขึ้นเช่น กระจก โมเสค หรือแม้แต่มีการเพิ่มระบบไฟฟ้าแสงสว่างเข้าไป

ในช่วงกรุงศรีอยุธยาและกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ที่ดินทั้งหมดเป็นของกษัตริย์ ประชาชนไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินศาลพระภูมิจึงเป็นลักษณะของศาลของชุมชน ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 พระองค์ทรงพระราชทานที่ดินให้กับประชาชน และเมื่อชาวบ้านมีที่ดินเป็นของตนเองจึงเกิดมีศาลประจำบ้านขึ้นมา

จนมาถึงยุคปัจจุบันที่ดินค่อนข้างจำกัดผู้คนอาศัยอยู่ในหมู่บ้านหรือคอนโดมิเนียม รูปแบบของศาลพระภูมิจึงกลับมาเป็นแบบศาลรวมสำหรับชุมชนอีกครั้ง

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นความเชื่อและที่มาของศาลพระภูมิ แต่ก็ยังมีศาลประเภทอื่นๆอีกที่เห็นได้ทั่วไป เช่น ศาลตายาย หรือศาลเจ้าที่ ซึ่งเปรียบได้กับ "ตี่จู้" ของคนจีน มีความเชื่อว่าตั้งขึ้นเพื่อให้เจ้าของที่ดินเดิมได้อยู่อาศัยและปกปักรักษาที่ดินผืนนั้น รูปทรงจึงมีลักษณะคล้ายบ้านเรือน และที่สำคัญคือมี 4 หรือ 6 เสา ซึ่งต่างจากศาลพระภูมิที่มีเพียงเสาเดียว และมีระดับความสูงที่น้อยกว่าศาลพระภูมิ ข้อสังเกตอีกอย่างคือศาลตายายมักมีบันไดขึ้นไปยังตัวเรือน ต่างกับศาลพระภูมิที่จะไม่มีบันได ตามที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้นคือพระภูมินั้นมีกายทิพย์จึงไม่จำเป็นต้องใช้บันได

ศาลอีกประเภทที่เห็นบ่อยคือ ศาลพระพรหม สืบเนื่องจากความเชื่อทางพราหมณ์ที่ว่า มีเทพองค์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดนั่นคือ พระวิษณุ(ผู้ทำลาย) พระวิษณุ(ผู้รักษา) และพระพรหม(ผู้สร้าง) ดังนั้นคนจึงนิยมตั้งศาลพระพรหมขึ้นในกรณีที่อาาคารเหล่านั้นเป็น โรงงาน บริษัท ห้างร้านต่างๆ นั่นเอง ข้อสำคัญของตัวศาลพระพรหมคือต้องมีด้านเปิดสี่ด้าน เนื่องจากองค์พระพรหมนั้นมีพระพักตร์สี่หน้านั่นเอง

เกร็ดความเชื่ออื่นๆเกี่ยวกับการตั้งศาลคือ ทิศ ส่วนใหญ่แล้วจะให้ศาลหันไปทางทิศเหนือหรือทิศตะวันออกเนื่องจากเป็นทิศมงคล ให้ระดับของฐานรองศาลสูงกว่าระดับปากของเจ้าของบ้านเพราะเชื่อว่าให้เจ้าของบ้านมีกินตลอด ส่วนสีสันนั้นก็นิยมให้เป็นสีโทนสว่างแต่ปัจจุบันหลายๆที่ก็เริ่มใช้หินแกรนิตสีดำหรือวัสดุอื่นๆที่มีสีเข้มบ้างแล้วทั้งนี้เพื่อให้ตัวศาลมีความกลมกลืนไปกับสีสันของอาคารหลัก รวมถึงมีการวัสดุที่แปลกใหม่มากขึ้น อย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้นว่า มนุษย์นั้นมักใส่ความชอบความต้องของตัวเองเข้าไปผนวกกับความเชื่อด้วย รูปทรงและวัสดุของศาลจึงมีการเปลี่ยนแปลงไปตามที่เห็นในปัจจุบันนั่นเอง

ในบางที่อาจมีการตั้งศาลตายายคู่กับศาลพระภูมิ หรือห้างร้านต่างๆก็อาจตั้งศาลตายายคู่กับศาลพระพรหม ดังนั้นจึงเห็นร้านค้าศาลพระภูมิก็มีการตอบรับความต้องการของผู้ใช้งานในส่วนนี้จึงมีออกแบบไว้เป็นเซตที่มีความกลมกลืนกัน เพื่อให้ลูกค้าสามารถเลือกใช้ได้

ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ

คุณประพิศ พงศ์มาศ ที่ปรึกษากรมศิลปากร และผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดี

ร้านมณฑลศิลป์ศาลพระภูมิ

087 455 4045

Recent post
Archive
Search by tag
Gallery
bottom of page